เรื่องต้องรู้ของการวางแผนบำรุงรักษาเครื่องจักร
1026 Views
พฤหัสที่ 10 กันยายน 2563
หลายทศวรรษที่ผ่านมาบทบาทฝ่ายบำรุงรักษาถูกมองว่าเป็นศูนย์ต้นทุน โดยมุ่งบทบาทในการดูแลทรัพยากรสนับสนุนการผลิตและเครื่องจักรให้สามารถใช้งานด้วยต้นทุนต่ำสุด แต่แนวโน้มอุตสาหกรรมถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่มุ่งใช้แรงงานสู่ความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้ประสิทธิผลการบำรุงรักษาไม่เพียงแค่เป็นศูนย์ต้นทุนแต่ได้กลายเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน
โดยฝ่ายบำรุงรักษาจะรับผิดชอบการวางแผน อาทิ การจัดทำแผนกำหนดการและปฏิบัติตามใบสั่งงาน งานดังกล่าวครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์การบำรุงรักษาเชิงป้องกันรวมถึงงานแก้ไขที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายผลิตและวิศวกรรม ซึ่งการวางแผนจะมุ่งประเด็นการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่องานบำรุงรักษาให้เสร็จสิ้นด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและกำหนดการในแผนบำรุงรักษาควรตอบคำถามสำคัญ อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงานประกอบด้วยงานอะไรบ้าง งานอะไรที่มีความสำคัญสูงสุด เครื่องจักรมีความพร้อมเดินเครื่องเมื่อไหร่และทรัพยากรหรือระบบสนับสนุนการผลิตมีความพร้อมเมื่อไหร่
ดังนั้น การบำรุงรักษาเชิงวางแผนเป็นกิจกรรมที่มุ่งประสิทธิผลงานบำรุงรักษาด้วยการตรวจจับความบกพร่องเพื่อให้เครื่องจักรมีสภาพพร้อมใช้งานสูงสุดและลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ทั้งยังดำเนินกิจกรรมปรับปรุงสภาพเครื่องจักรที่มุ่งขจัดความขัดข้องและปัญหาการหยุดเดินเครื่องจักร โดยใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อระบุกำหนดการบำรุงรักษาดำเนินการโดยบุคลากรฝ่ายบำรุงรักษาร่วมกับแรงงานสายการผลิต
ประเภทแผนงานบำรุงรักษา
โดยกิจกรรมหลักบำรุงรักษาเชิงวางแผน คือ การบันทึกสภาพปัญหาเครื่องจักรและประเมินผลเบื้องต้น การฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร การสร้างระบบสารสนเทศงานบำรุงรักษา การจัดเตรียมข้อมูลคัดเลือกเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนให้สอดคล้องกับแผนงานบำรุงรักษา รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานต่อเนื่อง
ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายงานบำรุงรักษาควรดำเนินการร่วมระหว่างฝ่ายบำรุงรักษากับฝ่ายงานเกี่ยวข้องแต่แผนงานมักเกิดข้อจำกัดบางประการเนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรอาทิ บุคลากรเวลาและงบประมาณโดยดำเนินกิจกรรมตามแผนงานที่ระบุไว้ อาทิ การตรวจเช็คตามรอบเวลาการซ่อมใหญ่และการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ การปรับตั้งเครื่องและการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามรอบเวลาการนำสารสนเทศการขัดข้องเพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น การค้นหาปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องการควบคุมความเที่ยงตรงของเครื่องด้วยการสอบเทียบ รวมถึงการควบคุมความพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกงานบำรุงรักษา โดยเฉพาะอะไหล่ด้วยการวินิจฉัยและคาดการณ์ความเสื่อมสภาพสภาพเครื่องจักร ด้วยการวิเคราะห์สภาพการหล่อลื่นและการวิเคราะห์ความสั่นสะเทือนสำหรับฝ่ายบำรุงรักษาจะมีบทบาทสนับสนุนการฝึกอบรมให้ทีมงานบำรุงรักษาด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินการโดยผู้ควบคุมเครื่องจักรประกอบด้วยขั้นตอนหลัก ดังนี้
ช่วงเริ่มต้นโครงการปรับปรุงเครื่องจักร โดยมีการอธิบายหน้าที่การทำงานเครื่องจักรการระบุรายการทำความสะอาดการตรวจสอบและการหล่อลื่น ซึ่งมีการจัดทำเอกสารบทเรียนจากปัญหาให้ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้และแนะนำวิธีการตรวจสอบขณะที่ดำเนินการทำความสะอาด รวมทั้ง ฝึกอบรมเรื่องการเคลื่อนย้ายงานและตรวจสอบกลไกทำงานขณะเดินเครื่องเพื่อค้นหาความผิดปกติ โดยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถกำหนดเกณฑ์การตรวจสอบ
การวิเคราะห์สาเหตุต้นตอและประเภทปัญหาความบกพร่องในสายการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเวลาการเดินเครื่องจักรและคุณภาพผลิตผล โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการควบคุมคุณภาพสู่การประกันคุณภาพด้วยการศึกษาองค์ประกอบหลักของเครื่องจักรที่ส่งผลต่อคุณภาพผลิตผลและดำเนินการขจัดต้นตอปัญหาซึ่งมีการติดตามวัดผลตามรอบเวลาเพื่อใช้ข้อมูลดำเนินกิจกรรมไคเซ็นและจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นโดยมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ อาทิ ตำแหน่งที่เกิดปัญหาความบกพร่อง ความรุนแรงแต่ละประเภทปัญหา ความถี่การตรวจพบปัญหาแต่ละช่วงการทดสอบ รวมทั้งข้อมูลแสดงแนวโน้มการเกิดปัญหาทางคุณภาพตามรอบเวลา
ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการโดยเฉพาะเงื่อนไขการทำงานแต่ละกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานวิธีการทำงานวัสดุและเครื่องจักรการกำหนดมาตรฐานหรือเงื่อนไขการทำงานของแต่ละกระบวนการข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับสภาพการทำงานขณะที่เกิดปัญหาขึ้น
จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบป้องกัน อาทิ
สร้างระบบควบคุมด้วยการมองเห็นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสะดวกต่อการตรวจจับปัญหาและสามารถเข้าถึงจุดที่ยากต่อการตรวจสอบ
กำหนดความถี่และวิธีการดำเนินกิจกรรมอาทิ การทำความสะอาดการหล่อลื่นการขันแน่น รวมถึงการให้คำแนะนำกับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปัญหาการทำงาน
จัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นไว้ในพื้นที่ทำงานเพื่อสามารถหยิบใช้งานได้สะดวก
จัดเตรียมใบงานแสดงการขัดข้อง เพื่อใช้วิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขความผิดปกติที่ถูกตรวจพบ
ทำการสาธิตอธิบายแนวทางดำเนินการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและการบำรุงรักษาด้วยตนเอง
กำหนดมาตรฐานการหล่อลื่นและตรวจสอบแรงดันอุณหภูมิมาตรฐานทำความสะอาด
กระบวนการควบคุมงานบำรุงรักษา
สำหรับผู้จัดการฝ่ายผลิตและฝ่ายบำรุงรักษาควรให้การสนับสนุนร่วมกำหนดนโยบายสร้างระบบบำรุงรักษาด้วยตนเอง โดยระบุรายละเอียดขอบเขตประเภทงานบำรุงรักษาพนักงานแต่ละคนและขั้นตอนทำงานที่ชัดเจน ดังนั้น ก่อนที่จะมอบหมายความรับผิดชอบให้กับพนักงานควรทำการฝึกอบรมเพื่อลดความผิดพลาดขณะปฏิบัติงาน ส่วนขั้นตอนดำเนินการบำรุงรักษาด้วยตนเองได้แก่การจัดเตรียมบุคลากรการทำความสะอาดเครื่องจักรเบื้องต้นการแก้ปัญหามาตรฐานบำรุงรักษาด้วยตนเองการตรวจสอบทั่วไปการตรวจสอบด้วยตนเองและการบริหารจัดการด้วยตนเอง
นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบข้างต้นฝ่ายบำรุงรักษายังต้องแจ้งเตือนฝ่ายผลิตเกี่ยวกับงานค้าง ส่วนฝ่ายผลิตจะมีบทบาทสนับสนุนงานบำรุงรักษาในการจัดตารางเวลาการหยุดเดินเครื่องจักร เพื่อให้ฝ่ายบำรุงรักษาสามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมการผลิต ซึ่งประสิทธิผลการวางแผนจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตและประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นกระบวนการวางแผนจะต้องประสานความร่วมมือระหว่างบุคลากร อาทิ หัวหน้างานวิศวกรบำรุงรักษา วิศวกรกระบวนการเพื่อกำหนดช่วงเวลาเหมาะสมให้กับฝ่ายบำรุงรักษา
โดยมุ่งการลดเวลาดำเนินการแต่ละกิจกรรมให้สามารถบรรลุผลตามเป้า โดยปกติแล้วการวางแผนบำรุงรักษาที่มีประสิทธิผลสามารถป้องกันการเกิดงานซ้ำซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อเวลาการเดินเครื่องจักรและคุณภาพผลิตภัณฑ์ บางองค์กรอาจมอบหมายให้ผู้ควบคุมงานบำรุงรักษาได้มีบทบาทในกระบวนการวางแผน แต่ผู้ควบคุมงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับการฝึกอบรมจึงมักผลักภาระงานบางส่วนให้กับช่างเทคนิคทำให้เกิดความสูญเปล่าเวลาในกิจกรรมการผลิต ซึ่งองค์กรที่มีโครงสร้างซับซ้อนมีความจำเป็นต้องจ้างบุคลากรในการประสานงานและจัดสรรงานบำรุงรักษา ส่วนผู้ควบคุมงานบำรุงรักษาและช่างเทคนิคจะมีส่วนร่วมวางแผนและแก้ปัญหางานเร่งด่วนรวมทั้งดำเนินแผนงานประจำวันมากกว่าการวางแผนงานล่วงหน้าสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการจะดำเนินการ ดังนี้
การจัดทำประวัติเครื่องจักร โดยแสดงรายละเอียดข้อกำหนดเพื่อการใช้งาน ประวัติการซ่อมและเวลาที่หยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซม
จัดทำคู่มือบำรุงรักษาเครื่องจักร พร้อมทั้งบัญชีอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนตามรอบเวลาและทำตารางหรือแบบฟอร์มการตรวจเช็คเครื่องจักรตามรอบ อาทิ ประจำวันประจำสัปดาห์ ประจำ 3 เดือน 6 เดือน และการตรวจเช็คประจำปี
ดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยการตรวจเช็คเครื่องจักรตามรอบเวลาในแผน พร้อมทั้งจัดทำแบบรายงานสรุปแจ้งกับหัวหน้างานและติดประกาศ
การซ่อมและถอดเปลี่ยนอะไหล่ตามอายุใช้งาน โดยทำบัญชีอะไหล่ที่ต้องถอดเปลี่ยนตามอายุใช้งานแต่ละสัปดาห์เพื่อเสนอฝ่ายจัดซื้อและระบุกำหนดการถอดเปลี่ยนอะไหล่ในวันหยุด
ทำแผนงานปรับปรุงระบบสนับสนุนประจำ 3 เดือน อาทิ งานระบบไฟฟ้า งานแสงสว่างงานระบบน้ำ ระบบควบคุมฝุ่นอุปกรณ์สำนักงานห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวก
นำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามรอบ 6 เดือน ในที่ประชุมและเสนอด้วยรูปแบบโปสเตอร์ โดยรายละเอียดควรแสดงถึงระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกันสามารถลดเวลาหยุดกิจกรรมการผลิตเนื่องจากปัญหาเครื่องจักรขัดข้องเชิงปริมาณเท่าใดหรือค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาต่อหน่วยลดลงเท่าใด
ปัจจัยการเสื่อมสภาพเครื่องจักร
ส่วนช่วงแรกการจัดทำคู่มือโครงสร้างเครื่องจักรจะดำเนินการจำแนกประเภทโครงสร้างเป็นสองส่วน คือ โครงสร้างหลัก อาทิระบบไฮโดรลิกนิวแมติก ระบบส่งกำลังการหล่อลื่นและองค์ประกอบเพื่อแบ่งรายละเอียดเป็นส่วนย่อยและระบุรายละเอียดกิจกรรมตรวจสอบตามรอบเวลา รวมถึงวิเคราะห์ความชำรุดเสียหายในองค์ประกอบแต่ละส่วนของเครื่องจักรด้วยข้อมูลที่ถูกบันทึกและประเมินหาจุดอ่อนที่ส่งผลต่อความชำรุดเสียหายซึ่งข้อมูลจะถูกใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนการป้องกันและแก้ไข
โดยประเภทเอกสารสนับสนุนกิจกรรมบำรุงรักษาได้แก่ ทะเบียนบันทึกประวัติเครื่องจักรทั้งหมดแผนกำหนดการกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกันในรอบปี กำหนดการถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนตามรอบเวลา คู่มือโครงสร้างเครื่องจักร เอกสารเกี่ยวกับระบบการจัดการบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ แผนภาพวงจรไฟฟ้า บันทึกประวัติการบำรุงรักษารายการอะไหล่สำรองที่จำเป็นและแนวโน้มการใช้งานข้อมูลแนวโน้มการเกิดปัญหาขัดข้องเอกสารการวิเคราะห์สาเหตุการขัดข้อง เอกสารรับรองการสอบเทียบเครื่องคู่มือการใช้งานและข้อแนะนำจากผู้ผลิต
ที่มา www.mmthailand.com/บำรุงรักษาเครื่องจักร